5 วิธีรับมือเมื่อลูกของเราไม่ยอมกินข้าว ทำยังไงดีนะ ?
- huggloryclinic
- 15 พ.ค. 2567
- ยาว 1 นาที

5 วิธีรับมือเมื่อลูกของเราไม่ยอมกินข้าว ทำยังไงดีนะ ?
- ลูกกินอาหารได้ยาก
- ชอบอมข้าว ไม่ค่อยยอมเคี้ยวอาหาร
- ปฏิเสธที่จะลองอาหารเนื้อสัมผัสใหม่ๆ ทานแต่อาหารเมนูเดิมๆ
- มีอาการเหมือนอยากอาเจียนระหว่างมื้ออาหาร
- ใช้เวลาในการทานอาหารนาน
ผู้ปกครองหลายๆท่าน อาจจะเคยพบเจออาการเหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้นกับลูกๆตัวน้อย และเกิดอาการสงสัยและอยากหาวิธีรับมือเพื่อให้เด็กๆของเราสามารถทานอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยและทานอาหารได้เพียงพอเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เหมาะสมในแต่ละวันกันอยู่ใช่มั้ยคะ ?
วันนี้ครูแพรว มี 5 วิธีรับมือเมื่อลูกของเราไม่ยอมทานข้าวมาแนะนำกันค่ะ
ในการรับประทานอาหาร 1 คำของเด็กๆ ไม่ใช่แค่การที่เราตักอาหารทานเข้าไปในปาก เคี้ยวแล้วกลืนแค่เพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ในเด็กที่มีประสาทการรับรู้ความรู้สึกที่ไวมากกว่าปกติ (sensory over responsivity : SOR) ไม่ว่าจะเป็น สัมผัสของเนื้ออาหาร รสชาติ สี กลิ่น หรือแม้แต่อุณหภูมิของอาหารที่ทานเข้าไปล้วนแต่สามารถส่งผลกับการทานอาหารของเด็กๆได้ทั้งหมดค่ะ ซึ่งจะพบออกมาเป็นพฤติกรรมแบบที่กล่าวมาข้างต้นได้ค่ะ

1) Sensory play
ใช้กิจกรรมการเล่นในการสำรวจเนื้อสัมผัสของอาหารใหม่ๆเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และคุ้นชินกับการได้ลองสัมผัสเนื้ออาหารใหม่ๆ สี หรือกลิ่นและอุณหภูมิ และค่อยๆลดการปฏิเสธลง เมื่อถึงเวลาต้องรับประทานอาหารชนิดใหม่ๆค่ะ
กิจกรรมที่ให้เด็กได้จับวัตถุหรือของเล่นที่มีเนื้อสัมผัสหลากหลาย เช่น การเล่นแป้งโดว์ สไลม์ หรือ ให้หาสิ่งของในถังที่ใส่เส้นพาสต้าไว้ หรือการสัมผัสกับน้ำที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันไป เช่น อาบน้ำโมเดลสัตว์ในน้ำอุ่นและน้ำเย็น เป็นต้น

2) ปรับบรรยากาศขณะทานอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นสีของไฟที่เปิดในบริเวณโต๊ะอาหารหรือเสียงเพลงที่เปิดคลอเบาๆขณรับประทานอาหาร เข้าใจและให้เวลากับเด็กขณะทานอาหาร ไม่บังคับหรือกดดันเด็ก เพราะจะช่วยส่งเสริมให้บรรยากาศรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายมากขึ้นสำหรับเด็กๆในการทานอาหาร รวมไปถึงลดการเปิดสิ่งรบกวนที่จะดึงดูดความสนใจของเด็กไปจากการทานอาหาร เช่น เปิดการ์ตูนหรือเปิดโทรทัศน์ ขณะทานอาหารค่ะ

3) เล่าเรื่อง หรือ ประสบการณ์การทานอาหาร
ให้ผู้ปกครองเล่าเรื่องหรือประสบการณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นกับการทานอาหารให้กับเด็กๆฟัง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเจ้าตัวน้อยให้กล้าลองทานอาหารมื้อใหม่ๆ แต่ในวิธีนี้อาจจะใช้ได้ในเด็กที่สามารถพูดคุยและรับฟังเรื่องราวของผู้ปกครองได้แล้วนะคะ

4) เตรียมมื้ออาหารให้น่าสนใจ
ในการเตรียมมื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็นสีของอาหาร หรือรูปร่างหน้าตาของอาหาร ล้วนแต่ต้องใช้เพื่อดดึงดูดความสนใจของเจ้าตัวน้อยทั้งสิ้น เช่น การหั่นชิ้นผักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ใช้ผักผลไม้ที่มีสีสันน่ารับประทาน รวมไปถึงอาจให้เจ้าตัวน้อยมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมมื้ออาหารในขั้นตอนง่ายๆ เช่น การจัดลงจาน การหยิบใส่ เพื่อกระตุ้นความอยากทานอาหารของเด็กๆไปด้วยในตัวค่ะ

5) ลองทานอาหารเนื้อสัมผัสใหม่ๆ
เพิ่มเนื้อสัมผัสใหม่ๆ ในมื้ออาหารของเด็กๆ โดยอาจจะเริ่มจาก 1 เนื้อสัมผัสใหม่ๆ ปริมาณน้อย แล้วเพิ่มลงไปในเมนูอาหารจานโปรดของเด็กๆ แล้วเมื่อเด็กๆสามารถคุ้นชินและทานได้ หลังจากนั้นค่อยๆปรับปริมาณ และเนื้อสัมผัสใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นค่ะ
Bình luận