ก่อนที่หนูจะพูดได้ต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง?
- huggloryclinic
- 15 พ.ค. 2567
- ยาว 1 นาที

#ก่อนที่หนูจะพูดได้ต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง?
โดยเฉพาะกรณีที่เจอเด็กพูดช้า จะต้องกระตุ้นเด็กๆให้พูด
เราต้องส่งเสริมเรื่องอะไรบ้าง?
มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันค่ะ

ด้านทักษะสังคม (social skill)
เป็นทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นการแสดงออกทางด้านคำพูด การแสดงสีหน้า ท่าทาง ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นในเด็ก
การตอบสนองกับคนรอบข้าง (Response to People) หรือการตอบสนองกับผู้อื่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เด็กต้องการสื่อสารด้วย หรือทำกิจกรรมร่วมด้วย เช่น การมองสบตา การสนใจมองคนรอบข้าง สนใจคนที่กำลังพูดคุยด้วย เป็นต้น
การผลัดกัน (turn-taking) ในเด็กเล็กได้เรียนรู้เป็นผู้พูด-ผู้ฟัง หรือการเป็นผู้ส่งสาร-ผู้รับสาร หรือเปลี่ยนการรับและส่งข้อมูล ระหว่างการเล่น เช่นตาเธอ ตาฉัน เป็นต้น
การแสดงความสนใจร่วมกับผู้อื่น (Joint attention) คือ การที่เด็กสามารถมองไปที่ของเล่นหรือสิ่งที่เด็กสนใจหรือกำลังทำกิจกรรมอยู่ แล้วมองหน้าสบตาผู้ใหญ่ หรือคนที่เด็กทำกิจกรรมด้วย สนใจบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน สนใอยากจะเล่นด้วยกัน
การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) เด็กที่มีความล่าช้าทางภาษาในการแสดงออกหรือในเด็กที่พูดช้า อย่างน้อยจะพยายามเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่และใช้วิธีใดก็ตาม เพื่อที่จะบอกความต้องการของตัวเอง ซึ่งเด็กอาจทำท่าทางของตนเองขึ้นมาเองเพื่อบอกความต้องการ เช่น อยากได้นม อยากออก พยายามดึงมือ หรือชี้ชวน

ด้านการรับรู้หรือเข้าใจภาษา (Receptive Language/Cognition)
ภาษารับหรือความเข้าใจภาษา เข้าใจว่าคำนี้แปลว่าอะไร ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ บางครั้งการสื่อสารของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่ยังไม่มีความสามารถที่จะสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ อย่างน้อยเค้าจะสามารถทำตามที่เราบอกได้ เช่น ยกมือสวัสดี เมื่อเราบอกให้สวัสดี บ๊ายบาย หรือให้เอาของชิ้นนี้ให้หน่อย รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร เราต้องการให้เขาทำอะไรและปฏิบัติตามได้ถูกต้อง
การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม (Responds to the Environment) เด็กจะมีการใช้คำพูดจากการเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ จากสิ่งรอบตัว การรับรู้และภาษานั้นก็เกิดจากการที่เด็ก รู้จักเชื่อมโยงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินกับสิ่งที่เด็กมองเห็นและสัมผัสได้ และตอบสนองออกมาเป็นเสียงร้อง หรือการแสดงท่าทางต่างๆ เช่น การสนใจเสียงพูดหรือเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียง เด็กจะทำเสียงอ้อแอ้ เมื่อเขารู้สึกพอใจ/ไม่พอใจออกมา การตอบสนองต่อเสียงเรียก เวลาที่เราเรียกชื่อ หรือสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น มีการสังเกต มองดูหรือฟังเสียงสิ่งต่างๆรอบตัว
ต้องพัฒนาความสนใจให้ยาวนานขึ้น (Develops a Longer Attention Span) หรือการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ยาวนานมากพอ ที่จะรับรู้และเรียนรู้ข้อมูล ที่กำลังมองเห็น ได้ยิน เพื่อเก็บข้อมูลรับรู้คำศัพท์ต่างๆและบันทึกไว้เป็นความจำ ว่าสิ่งนี้คืออะไร เรียกว่าอะไร เป็นอย่างไร
การเล่นของเล่นที่หลากหลาย (Plays with a Variety of Toys) การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาภาษา ในขณะที่เล่น เด็กจะพัฒนาทักษะการรับรู้ที่สำคัญ เช่น การคิด การวางแผนแก้ปัญหา การลองสิ่งใหม่ๆ และการจดจำ ยิ่งถ้าหากเล่นหลากหลาย คลังคำศัพท์ที่เด็กต้องเรียนรู้ก็จะมากขึ้นตาม ทักษะการรับรู้เหล่านี้เป็นรากฐานสำหรับการทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์แต่ละคำว่าหมายถึงอะไรและการใช้คำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่นได้
การเข้าใจคำพูดและปฏิบัติตามคำสั่ง (Understands Words and Follows Directions) การเข้าใจคำพูดและทำตามได้เป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาด้านภาษาของเด็ก ซึ่งเด็กจะตอบสนองด้วยคำพูดง่ายๆ หรือแสดงท่าทางต่างๆ เช่น การชี้นิ้วตอบ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ถามว่าอันนั้นอยู่ไหน อันนี้อยู่ไหน , การทำท่าตามคำสั่งเช่น สวัสดี บ๊ายบาย

การแสดงออกทางภาษาหรือภาษาส่ง (Expressive Language)
ภาษาส่ง คือความสามารถในการแสดงออกทางภาษาผ่านการมองเห็น เช่น การพูด การทำท่าทาง การเขียน
ออกเสียงอย่างมีความหมาย (Vocalizes Purposefully) เด็กจะมีการเรียนรู้ในการออกเสียงในรูปแบบต่างๆ เช่น เสียงปะๆๆ เพื่อบอกว่าไป หรือ หม่ำๆเพื่อบอกว่าทาน การใช้เสียงนั้นๆเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเสียงที่เราจะได้ยินจึงมีความหลากหลายตามความหมายที่เด็กต้องการจะสื่อ เด็กมักจะออกเสียงนี้เวลาต้องการให้เราทำแบบนี้ เป็นต้น
การเลียนแบบ (Imitates) เด็กลอกเลียนแบบสิ่งที่เขาเห็นและได้ยินคนอื่น ทั้งการทำตามและการพูดตาม เช่น เด็กในวัยหัดเดินเลียนแบบการกระทำของพ่อแม่ในระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทำงานบ้าน หรือการเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน และพูดตามหรือออกเสียงตาม เป็นต้น
การใช้ท่าทางเพื่อการสื่อสาร (Uses Gestures to Communicate) ภาษาท่าทางเป็นภาษาธรรมชาติ ของเด็กเล็กๆ ที่ยังใช้ภาษาคำพูดได้ไม่เก่ง เช่น ปิดตา แสดงว่าเขากำลังกลัวหรือกังวล , โบกมือหรือปัดมือเวลาที่ไม่อยากเอาหรือต้องการปฏิเสธ ชี้เพื่อบอกว่าจะเอาอะไร เป็นต้น

การพูดให้คนอื่นเข้าใจ (Speech Intelligibility)
เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนควรพูดบ่อยๆ โดยใช้วลีหรือประโยคสั้นๆ ซ้ำๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว กินนม เปิดตู เล่นรถ ไปเที่ยว ขึ้นรถ อาบน้ำ พ่อมา แม่มา.... ซึ่งประโยคหรือวลีเหล่านั้น ดึงมาจากคำศัพท์หลักหลายร้อยคำ มาต่อกัน เพื่ออธิบายถึงสิ่งนั้นๆ เช่น เวลาที่เด็กเล่น เด็กก็จะพูด หรือออกเสียงเพื่ออธิบายบางอย่างเวลาที่ทำอะไรอยู่ ดังนั้นการเล่นสมมติจึงมีความสำคัญมากในเด็กวัยนี้ เพราะเป็นการเล่นที่ต้องมีการสื่อสารร่วมด้วย หรือมีภาพในหัวชัดเจนว่าต้องการทำอะไร และเป็นการเล่นที่มีเป้าหมายในเด็ก คลังคำศัพท์จึงมีความสำคัญมากๆ หากมีคลังคำศัพท์มาก ความสามารถในการพูดได้ก็จะมากขึ้นตาม
==================================================================
หากต้องการคำแนะนำหรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ ฮักกลอรี่ คลินิกยินดีให้บริการแก่ทุกๆท่านนะคะ
Comments